ในประเทศไทยมีคนที่ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคนต่อปี แต่มีคนที่เข้ารับการรักษาแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น หมายความว่ายังมีคนจำนวนมากไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ หรือบางคนรู้แต่คิดว่าไม่ต้องรักษาเดี๋ยวก็หายเองได้ และคนที่เป็นอยู่แต่ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่หายขาดก็กลับมาเป็นใหม่ ทำให้โรคนี้กลายเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่พรากชีวิตคนไทยไปอย่างคาดไม่ถึง
โรคซึมเศร้าเกิดได้หลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ เนื่องจากสารสื่อประสาทในสมอง (neurotransmitters) ที่ไม่สมดุลกัน กรรมพันธุ์ก็ทำให้เรามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนอื่น ๆ แต่จะต้องประกอบกับปัจจัยข้ออื่น ๆ ด้วย เช่น ชอบคิดมาก หงุดหงิดง่าย รู้สึกสิ้นหวัง ชอบว่าตัวเอง เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ทำอะไรคนเดียวบ่อย ๆ พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง รวมไปถึงการเข้าสังคมและการทำงาน ควรพาไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้คนที่ขาดความมั่นใจ วิตกกังวลง่าย มีแนวโน้มเกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่าย ความเครียดสะสม ปัญหาชีวิตที่แก้ไม่ได้ อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ตกงาน ไม่มีเงินใช้ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น รวมทั้งพบเจอกับความสูญเสียในชีวิตอย่างรุนแรง สิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นอาการป่วยให้แสดงออกมา รวมถึงอาการป่วยจากโรคและการใช้ยารักษาโรคที่ตามมาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงในลักษณะอาการซึมเศร้าได้
การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในคนที่เป็นโรคซึมเศร้า อาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือน ๆ หรือเกิดขึ้นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับสิ่งที่มากระทบรุนแรงแค่ไหน แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะเปลี่ยนไปจากเดิมแน่นอน เนื่องจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองเสียสมดุลส่งผลให้มีอาการป่วยทางด้านร่างกาย จิตใจและความคิด ร้องไห้บ่อยกับเรื่องเล็กน้อย รู้สึกเบื่อคน เบื่องาน เบื่อโลก เบื่อชีวิต คิดว่าตัวเองเป็นภาระคนอื่น กลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจ หลงลืมง่ายโดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ ๆ วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก พูดด้วยเมื่อเช้าก็จำไม่ได้ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานได้ไม่ละเอียดเพราะไม่มีสมาธิ เริ่มลางาน ขาดงานบ่อยขึ้น ไม่อยากเข้าสังคม เก็บตัวไม่พูดคุยกับใคร อ่อนเพลีย ซึ่งคนรอบข้างมักจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเปลี่ยนไป เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร ซึ่งหากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจในช่วงนี้ก็อาจเกิดการทำร้ายตัวเองไปจนถึงคิดฆ่าตัวตายได้
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์เพื่อให้อาการดีขึ้นและหายในที่สุด รับประทานยาตามแพทย์สั่งให้ครบ เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต และให้ความร่วมมือกับนักจิตบำบัดในการรักษา ซึ่งปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้ามี 3 วิธีหลักได้แก่ ยารักษาโรคซึมเศร้า(ปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล) จิตบำบัด และการรักษาด้วยการกระตุ้นเซลล์สมอง
เราสามารถฝึกรับมือกับภาวะซึมเศร้าได้ด้วยตนเองโดยไม่ตั้งเป้าหมายการทำงานที่ยากเกินไป อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เช่น การหย่า การลาออกจากงาน ในช่วงที่ซึมเศร้า บริหารจัดการเวลา ลำดับความสำคัญ วางแผนสิ่งที่ต้องทำให้เป็นระเบียบในแต่ละวันจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ เขียนบันทึกระบายความรู้สึกออกมาบ้าง ออกกำลังกายผ่อนคลายความเครียดจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น กินอาหารได้ดี ชวนเพื่อนมาเล่นที่บ้านหรือทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัว พฤติกรรมทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราก้าวผ่านโรคซึมเศร้าได้
ความเข้าใจจากคนรอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่าคิดว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเป็นคนอ่อนแอ คิดมากเกินไป หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา แต่เพราะคนเป็นโรคซึมเศร้าคือผู้ป่วย ฉะนั้นถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะกลับมาเป็นคนที่มีอารมณ์มั่นคง พร้อมทำกิจวัตรต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม และอย่าเพิกเฉย ถ้าคนข้างกายของเราพูดถึงเรื่องการตายหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่เด็ดขาด ควรรีบแจ้งแพทย์หรือนักบำบัดทางจิตทันที